KS Daily View 22.04.2024 >>> มอง SET แกว่งผันผวน กังวล Fed ไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ คาด SET ซื้อขายในกรอบ 1,320-1,340 จุด หุ้นแนะนำวันนี้ KTB, GFPT

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้

ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,310-1,355 จุด แนะนำเริ่มทยอยซื้อสะสมเมื่ออ่อนตัว มองแม้ข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและอิสราเอลดูลดระดับ หลังทางการอิหร่านออกมากล่าวว่าจะไม่เร่งระดับสถานการณ์ความขัดแย้งหรือตอบโต้อิสราเอลเพิ่มเติม เรามองบรรยากาศความตึงเครียดยังมีและภาวะตลาดยังเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯที่เริ่มประกาศออกมาแล้วเผชิญแรงเทขายทำกำไร นอกจากนี้ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงของสหรัฐฯส่งผลต่อมุมมองการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ที่น้อยลงซึ่งยังเป็นประเด็นกดดันตลาด สัปดาห์นี้ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การประชุมนักวิเคราะห์ของกลุ่มธนาคารหลังรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/67,การปรับครม.เศรษฐา 2, รายงานผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ, ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ และตัวเลขเงินเฟ้อ core PCEสหรัฐฯ ในวันศุกร์

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: ประเมินดัชนีแกว่งตัวผันผวน แม้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและอิสราเอลดูคลี่คลาย แต่บรรยากาศการลงทุนยังไม่ฟื้น เนื่องจากตลาดยังกังวลเรื่อง Fed อาจลดดอกเบี้ยลงน้อยกว่าที่คาดต้นปีหรือแม้กระทั่งเริ่มมีกระแสมองว่า Fed อาจไม่ลดดอกเบี้ยลงเลยในปีนี้ กอปรกับวันนี้มีถึง 12 บริษัทขึ้น XD มีผลลบต่อ SET index ราว1.8 จุด

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. วันนี้มี 12 บริษัทที่มีกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD โดยจะมีผลกดดันเชิงลบต่อดัชนี SET index ราว 1.8 จุด
  1. ติดตามผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดจะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้เช่น TSLA, META, MSFT และ GOOG  โดยเฉพาะทิศทางผลประกอบการและการให้ข้อมูลของผู้บริหาร มองมีความสำคัญหลังนักลงทุนเทขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ประเมินมีผลต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไทยและบรรยากาศการลงทุนโดยรวมใน SET
  1. เศรษฐกิจจีนดูมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังสำนักข่าวรายงานจีนตอนใต้ฝนตกหนักจนอาจเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ 100 ปี ขณะที่ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีนรายงานการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแรง -19% สะท้อนภาพdemand ของจีนที่ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ดูมีท่าทีผ่อนคลายเป็นลบต่อกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี
  1. BOI เผยผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่จากจีน 7 ราย ได้แก่Contemporary Amperex Technology (CATL), บริษัท China Aviation Lithium Battery (CALB), Inpow Battery Technology (IBT), Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda, และ SVOLT Energy Technology มีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้เป็นฐานการผลิต EV และคาดเห็นการลงทุนจากผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อย 2 รายประเมินการลงทุนรวมที่ 3 หมื่นลบ. ในปี 2024 มองเป็นบวกกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม
  1. EEC หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เตรียมที่จะขอให้นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ เข้าเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 1-15 ปี และให้สิทธิคนต่างด้าว ยื่นขอรับ EEC Visa และ EEC WorkPermit เพื่อรองรับการลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และแบตเตอรี่ไฟฟ้าประจุสูง มองเป็นบวกกับEA
  1. รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้สั่งปรับเงินบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการละเมิดกฎมาตราการค่ำบาตรอิหร่านโดยที่ SCC ได้ตั้งสำรองไปแล้วใน 4Q23 โดยนักวิเคราะห์ KS มองเป็นกลางกับข่าวนี้

Daily pick

KTB: ราคาพื้นฐานที่ 16.7 บาท 

มองได้ sentiment บวกหลัง KTB รายงานกำไร Q1/24 โตดีทั้ง QoQ และ YoY ผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าที่เราคาดและตลาดประเมิน โดยกำไรหลักขยายตัวดีจากทั้งสินเชื่อที่ขยายตัวและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปรับตัวลดลงอย่างมากเนื่องจากไม่มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่รายหนึ่งที่เกิดขึ้นใน Q4/24

GFPT: ราคาพื้นฐาน 13.0 บาท 

คาดบริษัทรายงานผลประกอบการขยายตัวทั้ง QoQ แล YoY ใน Q1/24 จาก GPM ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง กอปรกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุน (JV) ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่มองไป Q2/24 คาดว่ากำไรจะเติบโตขึ้นต่อจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากทางยุโรป อีกทั้งต้นทุนอาหารสัตว์ยังปรับตัวลดลงต่อ ด้านvaluation หุ้นเทรดที่ PE 11x ต่ำกว่า PE เฉลี่ยของบริษัทในอดีตราว 0.5 SD

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันจันทร์: ติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ระยะ 1 ปี และ 5 ปี จากธนาคารกลางจีน โดยตลาดคาดว่าจะคงไว้ที่ระดับเดิมที่ 3.45% และ 3.95% ตามลำดับ

วันอังคาร: ติดตามยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. โดยตลาดคาดที่ 670,000 ยูนิต จากเดือนก่อนหน้าที่ 662,000 ยูนิต

วันพุธ: ติดตามดัชนี Business Climate ของเยอรมันในเดือนเม.ย. จากสถาบัน Ifo โดยตลาดคาดว่าจะออกมาที่ 88.8 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 87.8 จุด พร้อมทั้งติดตามตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. โดยตลาดคาดว่าจะออกมาขยายตัวที่ 2.5% MoM จากเดือนก่อนหน้าที่ 1.4% MoM

วันพฤหัสฯ: ติดตามการรายงานตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 โดยตลาดคาดว่าจะออกมาที่ 2.5% QoQ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.4% QoQ

วันศุกร์: ติดตามตัวเลขส่งออกไทยประจำเดือนมี.ค. โดยตลาดคาดหดตัวที่ 5.9% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.6% YoY พร้อมทั้งติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยตลาดคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบเดิมที่ 0 – 0.1% ต่อด้วยการรายงานดัชนี Core PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าจะออกมาขยายตัวที่ 2.6% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 2.8% YoY ซึ่งมองเป็นผลมาจากค่าเช่าที่ยังสูงและอาจส่งผลให้ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวเหนือระดับเป้าหมายของเฟด

- Advertisement -